บทสัมภาษณ์ คุณพจนา สวนศรี ผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน (ตอนที่ 1)

Last updated: 2 เม.ย 2563  |  5367 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทสัมภาษณ์ คุณพจนา สวนศรี ผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน (ตอนที่ 1)

ถามจริงๆ  พี่หน่อย พจนา  สวนศรี
บทสัมภาษณ์ คุณพจนา สวนศรี ผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย
ดำเนินรายการโดย คุณวรพงศ์ ผูกภู่ บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด



พี่หน่อย พจนา เริ่มสนใจเรื่องสถานการณ์ทางสังคมจากโลกของการอ่าน และได้พบกับหนังสือเรื่อง "แดนหนุ่มสาว" ซึ่งเป็นงานเขียนที่จุดประกายทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานด้านสังคม

เมื่อเข้าสู่นักศึกษา พี่หน่อยเลือกศึกษาต่อในสาขาการประชาสัมพันธ์ คณะบริหารธุรกิจ ม.รามคำแหง ซึ่งใช้ระยะเวลาเรียนยาวนาน 8 ปี เพราะรักในการทำกิจกรรมทางสังคม ในระหว่างใช้ชีวิตนักศึกษา ได้ร่วมขบวนกิจกรรมนักศึกษา และเป็นครูอาสาในชุมชนแออัด ใและยังได้มีโอกาสทำงานในระหว่างเรียนกับ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อว่า Plan International

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากรำคำแหง พี่หน่อยได้ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เพราะต้องการทำงานกับคนรุ่นใหม่และเชื่อว่าเป็นองค์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

ระหว่างที่ร่วมงานกับ มอส. พี่หน่อยและทีม ได้มีความพยายามที่จะสื่อสารเรื่องการทำงานในพื้นที่ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะชน ประกอบกับการรับแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้ามาปรับใช้ในประเทศไทยในขณะนั้น ทำให้พี่หน่อยเชื่อว่าการท่องเที่ยวเป็นสะพานที่เชื่อมโยงให้คนต่างที่ ต่างวัฒนธรรม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ จึงได้เริ่มก่อตั้งบริษัทที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้ มอส. ขึ้น ชื่อว่า บริษัท TVS REST : (TVS คือ Thai Volunteer Service และ REST คือ Responsible Ecological Social Tour)

ภายหลังที่ได้ออกจากมูลนิธิอาสาสสมัครเพื่อสังคม แล้ว จึงได้มาจัดตั้งบริษัทใหม่อีกครั้งที่ชื่อว่า บริษัท Responsible Tour&Service ซึ่งทำงานด้านการนำเที่ยว การฝึกอบรม การพัฒนา

ในปี พ.ศ.2549 ได้ร่วมมือกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ให้ทุนวิจัยได้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อจัดตั้งองค์กรร่วมกันที่ชื่อว่า "สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน" (CBT-I) เป็นองค์การด้านการวิจัยและพัฒนา อีก 4 ปี ต่อมา ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ชื่อว่า "มูลนิธิสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน" ซึ่งพี่หน่อยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนแรก

ปัจจุบันพี่หน่อยอยู่ในเส้นทางการทำงาน Consult ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ภายใต้หน่วยงานที่ชื่อว่า International Trade Center (ITC) ทำงานใน รัฐคะยา และ เมืองทวาย ที่ประเทศเมียนมาร์ และ ประเทศแกมเบีย

บทสัมภาษณ์ 


คำถาม : ตอนนี้พี่หน่อยอยู่ที่ไหน ทำงานอะไรอยู่
ตอบ : ในช่วงนี้ทำงานให้กับหน่วยหนึ่งของสหประชาชาติ ชื่อว่า International Trade Centre ประจำอยู่ที่ประเทศพม่า และเดินทางไปๆมาๆ ที่แอฟริกา ประเทศแกมเบีย ทำงานที่พม่าได้ 5 ปี หลังจากวางมือจากการเป็น ผู้อำนวยการ CBT-I  ซึ่งก่อนทำงานที่พม่าก็ว่างงานอยู่ 3-4 เดือน 

คำถาม : งานที่พม่าได้ทำงานเรื่อง CBT  หรือเปล่า
ตอบ : โครงการที่ทำในประเทศพม่าชื่อว่าInclusive Tourism และ CBT แค่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด

คำถาม : มีพื้นที่หรือเมืองไหนบ้างที่พี่หน่อยไปทำงาน
ตอบ :  ในช่วง 3 ปีแรกที่รัฐคะยา(พม่า) อยู่ทางด้านทิศตะวันออกติดกับแม่ฮ่องสอนประเทศไทย หลังจากทำได้ 3 ปี มีโครงการต่อเนื่องที่รัฐตะนาวศรีทางภาคใต้ของประเทศพม่า งานนำล่องในจังหวัดหนึ่งของรัฐตะนาวศรี ชื่อจังหวัด ทวาย ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนกาญจนบุรี

คำถาม : ถ้าพูดถึงรัฐคะยาต้องนึกถึงอะไร
ตอบ :  นึกถึงกะเหรี่ยงคอยาว ตอนที่เริ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชน เริ่มมีกะเหรี่ยงคอยาวที่อพยพมาตามแนวชายแดน  ซึ่งกระเหรี่ยงคอยาวนั้นมีสิทธิ์พิเศษมากกว่าชนชาติพันธุ์อื่น คือ สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในค่ายอพยพหรือเลือกที่จะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการด้านธุรกิจ หรือถ้าเรียกแบบไม่สุภาพก็คือ Human zoo เป็นหมู่บ้านชนเผ่าที่ถูกจัดแสดงเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งบ้านเกิดของพวกเขาอยู่ที่รัฐคะยา แต่ที่รัฐคะยาไม่ได้มีแค่เผ่ากะเหรี่ยงคอยาวอย่างเดียว  ยังมีกะเหรี่ยงแดงหรือชาวคะยา กะเหรี่ยงหูยาวหรือชาวกะยอ ปะโอ ไทใหญ่ และอีกหลายๆ ชาติพันธุ์ คือ คนกะเหรี่ยงคอยาว หรือเรียกตัวเองว่ากะยัน


คำถาม : ดูเหมือนว่า เร็วๆ นี้รัฐบาลของเรากำลังจะมีการเปิดด่านพรหมแดนระหว่างแม่ฮ่องสอนกับรัฐคะยา
ตอบ :  โครงการนี้มีมาตั้งแต่พี่เริ่มเข้าไปทำงาน และรู้สึกว่าในอนาคตจากเชียงใหม่นั่งรถไปแม่ฮ่องสอน ผ่านด่านห้วยต้นนุ่นก็สามารถไปทำงานได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากยังมีเรื่องของการเมือง กลุ่มกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาสันติภาพที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งยังไม่ง่ายนักที่จะเข้าไป แต่ตอนนี้คนไทยสามารถเข้าไปได้ เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นด่านสากลและยังไม่ได้เปิดเป็นด่านเพื่อการท่องเที่ยว แต่การขนส่งสินค้ายังเป็นจุดผ่อนปรน

ผู้ดำเนินรายการ : อย่างที่ได้พูดไปในต้นคลิป และได้ทำความรู้จักกับพี่หน่อยเบื้องต้น ก่อนที่พี่หน่อยจะเข้ามาทำงาน เรื่อง CBT  มีจุดเริ่มต้นอย่างไรบ้าง และสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวคิดหรือพัฒนาการของเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วย จนในปัจจุบันพี่หน่อยถือได้ว่าเป็นบุคคลสาธารณะไม่เพียงแค่ทำเพื่อคนไทย แต่ทำเพื่อคนทั้งมวล ทุกๆคนที่เป็นมนุษย์ เพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างสมบูรณ์

คำถาม : งานที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มีความท้าทาย ความเหมือนหรือแตกต่างกับบ้านเรา(ไทย) อย่างไร
ตอบ : มีความท้าทายอยู่ใน 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ สามารถยืนยันว่าแนวคิดเรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นสากล ไม่ใช่แค่บริบทของเมืองไทย  เรื่องที่ 2 คือ เราเป็นโครงการที่ทำงานภายใต้สหประชาชาติ คือมีทรัพยากร อาณาเขต ที่จะทำงานร่วมไม้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  ทำให้เราสามารถพัฒนาโมเดลการพัฒนาขึ้นมาได้  ทำแล้วรู้สึกว่าได้ความท้าทายชีวิตในช่วงหนึ่ง อันแรกที่พูดถึงยืนยันว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นสากล ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย และพอเราไปทำที่พม่าก็สามารถไปได้ ได้รับการขานรับจากคนในชุมชน ได้รับการขานรับจากนโยบายของรัฐ พี่ไปในช่วงทางผ่านของพม่า คือ มีการเลือกตั้ง รัฐมนตรีท่องเที่ยวนำเรื่องของ CBT เป็นนโยบาย คือเรื่องนี้ประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์ ในขณะเดียวกันเราทำงานกับห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ไปมีประสบการณ์กับคนท้องถิ่น ได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตคนท้องถิ่น เราจึงรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสากล และพอเรานำเรื่อง CBT  ทำที่แกมเบีย เรารู้สึกว่าเอเชียกับแกมเบียคนละบริบทกันทางเชิงวัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศ แต่มันก็สามารถทำได้ แนวความคิดนี้เป็นสากล อันที่สองที่บอกว่าเป็นโมเดลการพัฒนา สามารถยืนยันในขณะที่ทำงานในเมืองไทยจะทำงานภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เราไม่สามารถพิสูจน์โมเดลการพัฒนาได้เต็มที่และต่อเนื่อง  แต่พอไปทำงานที่พม่ามีขอบเขตระยะเวลา 3 ปีเละขยายอีก 3 ปี เป็น 6 ปี เราก็พอที่จะเห็นเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ที่เราได้เพาะปลูกลงไป ส่งผลให้เราได้องค์ความรู้เรื่องของห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ถ้าเราทำงานกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยมองว่าเขาเป็นพันธมิตร และเป็นการพัฒนา และอีกด้านหนึ่งคือโครงการมีอายุ เป็นโครงการเพียงแค่ 3 ปี เราจะทำอย่างไรเมื่อโครงการหมดไปแล้วชุมชนสามารถเคลื่อนงานต่อไปได้ ทั้งโดยชุมชนเอง ห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวก็เคลื่อนไป  ในมุมของพี่เลี้ยงโดยชุมชนพี่คิดว่า ในส่วนที่เราได้เอาประสบการณ์เราไป เราได้ทราบโมเดล TOT (training of trainers) ให้กับทางที่พม่าและแกมเบีย เหมือนกับว่า เราได้ถ่ายทอดวิทยายุทธ์ของเราให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศทางแอฟริกา

คำถาม : ชุดความรู้ประสบการณ์ที่บ่มเพาะในประเทศไทยไปใช้ในประเทศอื่น ๆ บางอย่างอาจจะง่ายกว่าในยุคแรกๆ ที่ทำ คือไม่ต้องไปต่อสู้เรื่องความเข้าใจกับหน่วยงานข้างบน  เพราะที่นี่ถูกยอมรับจากข้างบนลงไปก่อน ซึ่งต่างจากงานบ้านที่ต้องต่อสู้จากข้างล่างเพื่อสร้างการยอมรับไปสู่ข้างบน พี่หน่อยมองว่าจะเหมือนกันหรือไม่ ความต่อเนื่องของโครงการแบบนี้เมื่อไทยเราพยายามสร้างกลไกแบบนี้เหมือนกัน คือสร้างพี่เลี้ยงในหน่วยงาน ติดตั้งองค์ความรู้ต่างๆ สุดท้ายอาจจะมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง การเมืองเมืองที่เปลี่ยนไป ผู้บริหารองค์กรหน่อยงานต่างๆ พี่หน่อยคิดว่าพม่าหรือแกมเบียจะมีโอกาสเจอลักษณะคล้ายๆกับเราไหม
ตอบ : น่าจะคล้ายกัน หมายถึงว่าในช่วงที่จัดการองค์ประกอบได้ในงานขององค์การเหนือสหประชาชาติที่มีการดูปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกแล้ววางกลยุทธ์ของการทำงานมียุทธศาสตร์ที่ชัด พี่คิดว่า ITC ตอนที่ทำโครงการนี้ คือ ด้านหนึ่งผ่านการสรุปบทเรียนในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ถ้าติดตามผลงานทางวิชาการจากมีความรู้สึกว่า CBT ล้มเหลวแล้ว  ใช้เงินงบประมาณจากต่างชาติลงไป เพราะถ้าโครงการในระดับ international จะเป็นแค่โครงการจากนอกประเทศแล้ว เข้าไปทำงานในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนา ใช้ค่าจ้างที่ปรึกษาที่แพงมากแต่เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน สุดท้ายผลคือไม่ได้อะไรก็มีการสรุปบทเรียนจริงๆ ต้องทำกันทุกหุ้นส่วน ทุกชนชั้น ทุกภาคีที่เกี่ยวกับจากผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการตลาด คือการออกแบบของ ITC มาจากการสรุปบทเรียน ถ้าจะทำให้เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จ จะคิดเฉพาะด้านผลิตภัณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องคิดถึงด้านการตลาดด้วย และจะต้องทำงานเป็นหุ้นส่วน (Partner ship) กับภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เวลาเราไปทำงานพอเราเป็นส่วนเล็กๆ คือมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่ม แต่ในส่วนที่พี่ไปทำพอเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีคนที่เข้าไปส่งต่อจนถึงมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว ทำให้เรื่องนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ หากกล่าวถึงวงจรชีวิตของงานพัฒนาอาจเป็นขาขึ้น ประสบผลสำเร็จมีนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทุกคนไม่อยากล้มเหลว พอเราดึงภาคีที่เกี่ยวข้อง ทุกคนก็จะต้องพยายามประคับประคอง แต่อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจธรรมชาติของการพัฒนา แต่เมื่อเรามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำ เราทำด้วยฐานที่เข้มแข็ง มีการเตรียมการ มีการสร้างภูมิคุ้มกัน ถ้าจะถึงขาลงก็จะไม่ลงดิ่ง ในระยะเวลา 3 ปีที่ ITC ทำงานในพื้นที่ ทำให้การเตรียมความพร้อมในจุดนี้ให้เข้มแข็ง และในขณะเดียวกันเราก็มีการเตรียมความพร้อมพี่เลี้ยงเรื่อง TOT คือ เขาสามารถทำได้ หากเขาทำไม่ได้ก็จะเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ภายใต้ 3 ปีที่เราควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ ควรสร้างรากฐานที่ดี (Good foundation) ของแต่ละส่วนเอาไว้  หากกล่าวว่าเหมือนหรือแตกต่างจากในเมืองไทยหรือไม่ พี่มองว่าทรัพยากรในเมืองไทยไม่ได้น้อยไปกว่าที่สหประชาชาติลงไป กับสิ่งที่รัฐบาลไทยลงไปทุกวันนี้ แต่รัฐบาลไทยหรือโครงการของไทยมีตัวกลางในการทำงานหรือทำงานอย่างเป็นระบบ หรือตัวกลางนั้นสามารถเชื่อมผสาน หรือมีแนวความคิดเชื่อผสานในการไปทำงาน  ซึ่งของไทยมักจากมองแบบแยกส่วน ไม่ค่อยบูรณาการ ไม่ได้มองให้ชัดเจนเหมือนอย่างที่เราเห็นเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีความต้องการซื้อมากพอที่จะขยายการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปทุกที่เลยหรือไม่ อาจจะต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ก่อนการลงทุนในการพัฒนา พอได้มีโอกาสทำขยายผลโครงการจากรัฐคะยาไปรัฐอื่นเราก็มีการเลือกในรัฐต่าง ๆ ในพม่า รัฐไหนมีศักยภาพในการพัฒนา และทำใต้เวลา 3 ปี แต่ในเมืองไทยพอมีนโยบาย ก็ใช้วิธีการหว่าน ไม่ได้มีการมองแบบเชิงยุทธศาสตร์และมีกลยุทธ์ในการทำงาน พี่มองว่างานที่เราทำมันประยุกต์ได้ แต่ความแตกต่างของบ้านเรากับโครงการที่พี่ทำที่พม่ามันต่างกัน


คำถาม : ช่วยขยายความหรือให้ทัศนะในฐานะที่พี่หน่อยทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเมืองไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ใช้คำนี้ (CBT) พี่หน่อยห่วงใยอะไรกับพัฒนาการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ตอบ : แบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนที่ 1 คือ สบายใจที่มีคนมาทำงานตรงนี้ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีการสืบทอดมีการสืบเนื่องมีองค์กรที่เข้ามาทำงานและรับผิดชอบ พร้อมทั้งทรัพยากร บทบาทหน้าที่ ในครั้งหนึ่งที่พยายามผลักดันและในตอนนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงสบายใจ แต่พอย้อนกลับมาว่าเราใช้เรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ต้องตั้งคำถามกลับมาว่าตอนนี้ยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อยู่หรือไม่ เป็นสะพานเชื่อมทางวัฒนธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรม กลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าเราทำเรื่องนี้เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ให้ชุมชนนำเสนอความภาคภูมิใจ ใช้การท่องเที่ยวเข้าไปให้คนมีการทำงานร่วมกัน แบ่งบทบาทการทำงาน ผู้หญิง ผู้ชาย เยาวชน ผู้อาวุโส มีการจัดการทรัพยากรของเขาอย่างเป็นระบบ มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง มีกองทุนในการพัฒนาหมู่บ้าน มันยังตอบโจทย์ตรงนี้หรือไม่ มาแล้ว นักท่องเที่ยวกับชาวบ้านได้รู้จัก เข้าใจกันมากขึ้นไหม หากอยู่ตรงจุดนี้ก็ไม่น่าห่วง

ติดตามอ่านได้ตอนต่อไป (ตอนที่ 2) 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้