การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

Last updated: 8 ก.ค. 2564  |  8641 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ผู้เขียน/เรียบเรียง
วรพงศ์ ผูกภู่

ผู้วิจัย
วรพงศ์ ผูกภู่, ฐิติ ฐิติจำเริญพร,
วุฒิพงษ์ ฉั่วตระกูล, อิสรี แพทย์เจริญ,
พินทุสร อ่อนเปี่ยม, จิตรลดา ปิ่นทอง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564


การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถือเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากฐานคิดของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาจากแนวความคิดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้มีพัฒนาการไปเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นต้น จนนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวทางเลือกที่มีรูปแบบเฉพาะมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อนำการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จะพบว่า ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 11 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังตาราง

ตารางที่ 1 การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  (SDGs)

SDGs

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่



 



สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการ ยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและคาดเดาได้ แก่ประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อ ยุติความยากจนในทุกมิติ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น อย่างมีส่วนร่วม ที่นำไปสู่การต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มีการกระจายรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกร แบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้าง งานนอกฟาร์ม อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม

คงความหลายหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์เหล่านั้น รวมถึงให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่มีการ จัดการที่ดีและมีความหลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ


ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นกลไกหนึ่งของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ผลผลิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่เปิดอกาสให้คนทุกกลุ่ม รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงาน และการสร้างอาชีพ ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

กระบวนการในการจัดการวัฒนธรรม ของชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ฐานอาหารและพันธุกรรมพืชท้องถิ่น รวมถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ

เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกกลุ่ม

เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง

ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็น ผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ได้แสดงความสามารถ และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 

ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตาม บริบทของประเทศ

ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควร ความเป็น ผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาด เล็ก และขนาดกลาง

ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการในท้องถิ่น เข้าถึงโอกาสทางการตลาด และการสร้างสรรค์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ส่งผลต่อการการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่น

เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและ การเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทาง เศรษฐกิจหรืออื่น ๆ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เป็นกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ความแตกต่างในสังคม การให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ ที่มีศักยภาพและความสมารถในด้านต่าง ๆ มากกว่าการให้คุณค่าจากสถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ

เป้าหมายที่  11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหาร จัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ

เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างมีทิศทาง ซึ่งมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น

เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ

เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 

บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่าง มีประสิทธิภาพ

สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและ วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างความตระหนัก และสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคม ผ่านกระบวนการทางการท่องเที่ยว 

เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้านรายเล็ก

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นกระบวนการที่ช่วยส่งเสริมวิถีชีวิต การทำประมงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการจัดการทรัพยากรและการ แปรรูปผลผลิตจากทะเล เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นได้เข้าถึงตลาด และโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น

เป้าหมายที่ 15:  ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน

บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปสู่การวางแผน กระบวนการพัฒนา ยุทธศาสตร์การลดความยากจน และบัญชีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ รวมทั้งมีส่วนช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฐานทรัพยากรในท้องถิ่น

เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความ เป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีกลไกการบริหารจัดการในรูปแบบองค์กร ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น และเข้ามาเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ตามความสามารถของตนเอง

 เอกสารอ้างอิง

วรพงศ์ ผูกภู่, ฐิติ ฐิติจำเริญพร,วุฒิพงษ์ ฉั่วตระกูล, อิสรี แพทย์เจริญ, พินทุสร อ่อนเปี่ยม และ จิตรลดา ปิ่นทอง. (2564). รูปแบบการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาพื้นที่ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้