Last updated: 4 พ.ย. 2562 | 2980 จำนวนผู้เข้าชม |
เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง 7 สิ่งที่ต้องเรียนรู้ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT)
วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)
แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) หลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี หรือเป็นแหล่งชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ ชายหาดที่มีชื่อเชียง เป็นต้น ชุมชนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มแรกที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนอื่น ๆ ที่กำลังทำการท่องเที่ยวอยู่ ควรศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้สักประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มชัดเจนและรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลัก ต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและโครงสร้างประชากร ซึ่งดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับชุมชนหนือกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ทำการท่องเที่ยวอยู่ในชนบท แต่สิ่งเหล่านี้ จะไม่มีคำว่าไกลตัวอีกต่อไป ผู้เขียนได้วิเคราะห์ 7 สิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสำหรับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ดังนี้
1. เตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะ Walk in มาในชุมชน
นักท่องเที่ยวสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) ไม่ได้มีเพียง นักท่องเที่ยวที่จองมาล่วงหน้าหรือมาพร้อมกับบริษัททัวร์ เพียงอย่างเดียว อีกต่อไป เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเดินทางที่สะดวก ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนด้วยตนเอง โดยเฉพาะชุมชนที่พัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ FIT (Foreign Independent Tour) มีอัตราการเติบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการเดินท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยตนเอง ของนักท่องเที่ยวชาวไทย แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ควรมี แหล่งข้อมูลที่ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย ควรมีการออกแบบการให้บริการที่สามรถจัดการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของชุมชนได้ เช่น กำหนดการให้บริการเส้นทางการท่องเที่ยวเป็นรอบ การเปิดร้านอาหารและร้ายขายของที่ระลึกของชุมชน กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยตนเองภายในชุมชนให้ชัดเจน และมีการสื่อความหมายควบคู่ไปด้วย เป็นต้น
2. ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลชุมชนแบบ Realtime
การค้นหาข้อมูล เพื่อวางแผนเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะเรียกได้ว่า ตลอด 24 ชั่วโมง บนโลกออนไลน์ ดังนั้นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ต้องมีความชัดเจน ค้นหาได้ง่าย และไม่ใช้เวลามากเกินไป การเตรียข้อมูลสำหรับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 ด้าน คือ 1) สิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ และ 2) สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรรู้ (ชุมชนอยากให้รู้) การมีช่องทางการสื่อสารในระบบออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็น และปัจจุบัน สื่อออนไลน์เหล่านี้ได้ออกแบบให้สามารถตอบสนองความต้องการต่อผู้ใช้งาน (นักท่องท่องเที่ยว) แบบ Realtime ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่ชุมชนควรเรียนรู้และนำมาใช้อย่างเหมาะสม
3. รองรับลูกค้าแบบ Multi Gen. (กลุ่มคนหลากหลายวัย)
โครงสร้างประชากรที่ทำให้สัดส่วนของผู้คนหลายวัย มีจำนวนใกล้เคียงกัน มีผลโดยตรงต่อกลุ่มลูกค้า (นักท่องเที่ยว) ที่มีความหลากหลายในช่วงวัย การออกแบบกิจกรรมและการให้บริการ ตลอดจนการออกแบบสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก จึงต้องคำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การให้บริการอาหาร ควรมีทางเลือกหรือตัวเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น กิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายสำหรับคนหลายวัย เป็นต้น
4. ความสร้างสรรค์ในการนำเสนอตัวตน
อัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นเสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน(CBT) ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวโดนยชุมชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และหลายแหล่งมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันและเปรียบเทียบขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ (เป็นไปตามกลไกการตลาด) ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นตัวชี้วัดถึงความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จะสามารถนำเสนอตัวตนให้เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว ความสร้างสรรค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความสวยงามหรือความแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงความสร้างสรรค์เชิงความคิด การสร้างคุณค่า การอนุรักษ์ การบริหารจัดการ และอื่น ๆ ด้วย
5. การบริหารจัดการความสัมพันธ์ของชุมชนรูปแบบใหม่
สังคมชนบทในปัจจุบัน มีพัฒนาการไปเป็นรูปแบบสังคมเมืองมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนของสภาพสังคมในชุมชนคือ โครงสร้างอาชีพของชุมชน อดีต สังคมชุมชนไทยโดยเฉพาะมนพื้นที่ชนบทมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งระบบของสังคมเกษตรกรรมเดิมนั้นเป็นสังคมแบบพึ่งพาซึ่งกันและกันหรือสังคมเครือญาติมีการยึดโยงความสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนแรงงานในภาคการเกษตร งานประเพณี ความเชื่อ ปัจจุบันสังคมชุมชนมีโครงสร้างอาชีพที่หลากหลายขึ้นและการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในภาคการเกษตร ทำให้มีลักษณะเป็นสังคมผู้ประกอบการมากขึ้น โดยฌพาะชุมชนที่ทำการท่องเที่ยว จะเห็ได้อย่างชัดเจนถึงการเกิดอาชีพใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดังนั้นการบริหารจัดการชุมชนจึงเป็นการจัดการผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่แต่ละชุมชนต้องหาความเหมาะสมให้พบ
6. การจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระของโลก ซึ่งทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน(CBT) ซึ่งมีความเปราะบางทางด้านสิ่งแวดล้อมสูง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กว่าชุมชนทั่วไป การจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ไม่ใช่การจัดการขยะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการจัดการตั้งแต่ต้นทาง คือการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดขยะหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อมีการออกแบบและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีตั้งแต่ต้นทางแล้ว จะช่วยลดต้นทุนและลดปัญหาในการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
7. บทบาทของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน
แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยหลายแห่ง อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกมายังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะทำการรับไม้ต่อในการบริการและพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 6 ข้อ เป็นสิ่งที่ผู้ส่งไม้ต่อและผู้รับไม้ จะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกัน เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากนี้ไปสู่อนาคต จะต้องใช้องค์ควารู้และประสบการณ์ดั้งเดิมของคนรุ่นเก่า มาผสานกับองค์ความรู้ ความสร้างสรรค์และเทคโนโลยีจากคนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาสมดุลและความงดงามของการท่องเที่ยวโดยชุมชน