ปรัชญาแห่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน

Last updated: 9 ธ.ค. 2562  |  10280 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปรัชญาแห่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ปรัชญาแห่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน 7 ประการ
โดย วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based-Tourism) หรือ CBT นั้น มีพื้นฐานจากแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ค่อยๆ มีพัฒนาการ มาสู่การกำหนดแนวทางการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่ง ที่มีความเป็นรูปธรรมและได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้างว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดี ในยุคที่มีการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแพร่หลายนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เป็นเข็มทิศในการพัฒนา ซึ่งความรู้เหล่านั้นประกอบด้วย หลักการของ CBT และ รูปแบบของ CBT แต่การให้ความสำคัญถึงปรัชญาของแนวคิดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้ ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้บรรลุผลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์ให้เห็นถึงปรัชญาสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT เพื่อให้เป็นหลักยึดในการทำงานของชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้นำไปพินิจพิจารณา โดยได้สรุปออกมาเป็น ปรัชญาแห่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน 7 ประการ ดังนี้

1. ศักยภาพของ CBT  อยู่บนพื้นฐานนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนเมื่อเริ่มต้นการพัฒนาการท่องเที่ยว สิ่งแรกที่เริ่มในการเริ่มต้น คือ เรามีของดีอะไรบ้าง ซึ่งจะพบว่าของดีหรือสิ่งที่ชุมชนนำมาเสนอ อยู่บนพื้นฐานของนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งสามารถตีความหมายได้อย่างกว้างขว้าง  นิเวศเกี่ยวข้องถึงระบบภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้  การดำรงชีวิต เช่น เกษตร การทำมาหากิน    ระบบนิเวศ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ในเรื่องของ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์  ภูมิปัญญา  ความเชื่อ  ศาสนา  ศิลปะ  ทั้งในรูปแบบ Hardware และ Software 

2. การท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และใช้อย่างรู้คุณค่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเมื่อทราบถึงศักยภาพตัวตน เรื่องราวต่างๆ ของชุมชน  จึงจะสามารถวิเคราะห์ศักยภาพ ความน่าสนใจ ต้นทุนของชุมชนได้ เมื่อจะนำมาใช้ในมิติของการท่องเที่ยวต้องอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า  เพราะฉะนั้นการนำเสนอผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว การให้บริการต่าง ต้องอยู่บนหลักคิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคำนึงถึงคนรุ่นหลัง

3. คนในชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทาง อนาคต ของตนเอง  การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ความสำคัญกับบทบาทคนในท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการแรกเริ่ม คือ การศึกษา ศักยภาพ การวิเคราะห์ การทำความเข้าใจตนเอง และเลือกนำออกมาเสนอ เพราะฉะนั้นคนในชุมชนต้องมีบทบาทและเป็นผู้กำหนดอนาคตและทิศทางการท่องเที่ยวด้วยตนเอง หากชุมชนจะเลือกสิ่งใดมาใช้หรือนำเสนอ ต้องมีส่วนร่วมในการเลือกและตัดสินใจ

4. CBT ต้องมีการบริหาร-จัดการในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์  ปัจจุบันชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นมีพัฒนาการไปไกลมาก จากเดิมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก แหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวไม่มาก  แต่ปัจจุบันหลายๆ ชุมชน มีพัฒนาการเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้สถานการณ์หรือบริบทของพื้นที่เปลี่ยนไป การบริหารจัดการในวิธีคิดแบบเดิมที่มองว่าชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ใช่กระแสหลัก อาจจะไม่เท่าทันและเพียงพอต่อบางชุมชนในปัจจุบัน เช่น บางชุมชนไม่สามารถใช้รูปแบบเดิมได้ เนื่องจาก สถานการณ์เปลี่ยน นักท่องเที่ยวเปลี่ยน คนในชุมชนเปลี่ยนบทบาทและสถานะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเปลี่ยนไปชุมชนหลายที่ผันตัวเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น การบริหารจัดการ การอยู่ร่วมกันจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมและลงตัว อยู่ด้วยกันได้ รูปแบบการจัดการบริการพื้นที่ชุมชนจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์อยู่เป็นระยะ พูดคุยสรุปบทเรียนเป็นระยะเพื่อให้เห็นว่ารูปแบบการทำงาน นั้นต้องมีการออกแบบเพิ่มเติมหรือไม่ หรือมีการกำหนดมาตรการ ข้อตกลง การจัดการผลประโยชน์ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละพื้นที่ รูปแบบการจัดการจึงไม่ตายตัว โดยที่อยู่บนพื้นฐานศักยภาพพื้นที่ในมิติต่างๆ ของนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น เป้าหมายของการท่องเที่ยวบนพื้นฐานการอนุรักษ์และใช้อย่างรู้คุณค่า คนในชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางในอนาคตของตนเอง

5. CBT มีการกระจายรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นการจัดการผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจัดการอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแยกแยะระหว่างการท่องเที่ยวที่เป็น CBT และไม่เป็น CBT อย่างหนึ่งคือการกระจายรายได้ ซึ่งต้องดูว่าการท่องเที่ยวที่ดำเนินการนั้นคำนึงถึงการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมหรือไม่ โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่ควรจะได้ตามความเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ หรือตามกติกาที่สร้างร่วมกันไว้หรือไม่ เช่น ไกด์ โฮมสเตย์ ได้รับผลตอบแทนตามข้อตกลง ตามข้อกำหนดร่วมกัน  

การกระจายรายได้ทางอ้อม คือ ตัวสำคัญที่จะตอบโจทย์เรื่องการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมและสังคม การบริหารจัดการ การกำหนดอนาคตของชุมชนและการท่องเที่ยว รายได้ทางอ้อมออกมาเป็นหลายรูปแบบได้ ในยุคแรก เรื่องการตั้งกองทุน ซึ่งในปัจจุบันยังใช้ได้อยู่  การพัฒนาและการอนุรักษ์  บางพื้นที่มีพัฒนาการถึงการสร้างสวัสดิการชุมชน ดูแลผู้คนเรื่อง การศึกษา อาชีพ สุขภาพ  บางพื้นที่สามารถนำไปต่อยอด หรือลงทุนในส่วนอื่นๆ เช่น ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ลงทุนเป็นร้านค้าชุมชน เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจชุมชน เพราะฉะนั้นการกระจายรายได้ไม่เพียงทำให้ทุกคนมีรายได้ แต่นำไปสู่การนำรายได้ไปหมุนเวียนในระบบอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงตรงกับการพัฒนาแนวใหม่ โดยใช้เศรษฐกิจเป็นแกนหมุนในเรื่องของการพัฒนา อนุรักษ์ สังคม วัฒนธรรม

6. CBT สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เป็นเรื่องแรกๆ ในแนวคิดการก่อเกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  การท่องเที่ยวโดยชุมชนมุ่งเน้นเรื่องการนำทรัพยากร บนฐานนิเวศน์วัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้อย่างรู้คุณค่า ผ่านกระบวนการจัดการการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนัก ยอมรับ เคารพ หรือให้เกียรติเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนฟื้นฟูอนุรักษ์ต่อไป รักษา  หากใช้การท่องเที่ยวไปในทิศทางแบบนี้ คือ การท่องเที่ยวทรัพยากรที่นำมาใช้มีการสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การท่องเที่ยว การให้บริการ เพื่อให้คนเกิดความเข้าใจ ยอมรับ ตระหนัก การให้เกียรติ ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางของ SDGs (Sustainable Development Goal) เมื่อเกิดกระบวนการแบบนี้ จะทำให้สังคมเกิดความตระหนักในเรื่องของการฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรมได้ นำไปสู่กระบวนการด้านงานอนุรักษ์ได้ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวที่นำเสนอบนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งแตกต่างกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ ชุมชนควรให้ความสำคัญในข้อนี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ ความสนุกสนานและสาระประโยชน์อย่างไร

7. CBT  เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ได้ตั้งแต่ระดับ ปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม เป้าหมายทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีเป้าหมายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในเรื่องของการพัฒนาในชุมชน  หากทำการท่องเที่ยวโดยไม่หลุดจากปรัชญา ที่เป็นแก่นสารหรือสาระสำคัญการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั่นเอง จะพบว่าเมื่อเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากปรัชญาข้อที่ 1-6 ก็จะพบว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือ CBT  เป็นเครื่องมือที่นำมาสู่เรื่องการพัฒนาได้จริง  ซึ่งหลายๆพื้นที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นรูปธรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Tourism และรูปธรรมหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้