บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการวิจัย การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พลวัติของการเปลี่ยนแปลง ของบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 31 ม.ค. 2563  |  13976 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการวิจัย การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พลวัติของการเปลี่ยนแปลง ของบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

          โครงการวิจัย การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พลวัติของการเปลี่ยนแปลง ของบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วย 1) ศึกษาสถานการณ์ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 2) ศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์แห่งพระราชาเพื่อประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการชุมชนบ้านแม่กำปองตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 3) นำเสนอแผนการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่กำปองตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
          การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยทั้งแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Mix Method) เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research Development) คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย 1) ผู้นำครอบครัว 1 คน จำนวน 134 หลังคาเรือน รวม 134 คน 2) ตัวแทนกลุ่มนวดแผนไทยบ้านแม่กำปอง จำนวน 1 คน 3) ตัวแทนกลุ่มนักสื่อความหมายท้องถิ่นบ้านแม่กำปอง จำนวน 1 คน 4) ตัวแทนกลุ่มรถ รับ-ส่ง บ้านแม่กำปอง จำนวน 1 คน 5) ตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้ประจำทาง จำนวน 1 คน 6) เจ้าของหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย ผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชนบ้านแม่กำปอง จำนวน 20 คน 7) เจ้าของหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย ผู้ประกอบกิจการที่พัก/เจ้าของบ้านพักชุมชน จำนวน 43 คน 8) เจ้าของหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย ผู้ประกอบกรธุรกิจนำเที่ยวที่มาใช้บริการพื้นที่บ้านแม่กำปอง จำนวน 5 คน 9) ตัวแทนจากผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยว Fligh of The Gibbon จำนวน 1 คน 10) หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 1 คน  11) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้วหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 1 คน 12) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 1 คน 13) นักท่องเที่ยวชาวไทยและที่มาท่องเที่ยวในชุมชนในช่วงเวลาที่ทำวิจัยจำนวน 251 คน 14) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในชุมชนในช่วงเวลาที่ทำวิจัยจำนวน 200 คน และ 15) ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 100 คน

สรุปผลการวิจัย

วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ศึกษาสถานการณ์ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สามารถสรุปได้ดังนี้

          บ้านแม่กำปอง เริ่มดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ.2541 โดยความพยายามของผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ที่เล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในขุมชนได้ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยว และได้เปิดหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2543 รวมเป็นระยะเวลากว่า 19 ตลอดระยะเวลาในการจัดการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองที่ผ่านมาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้
        ยุคที่ 1 ยุคเริ่มต้นหรือยุคอุดมการณ์ (พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2546) เป็นยุคที่ผู้นำและคนในชุมชนบ้านแม่กำปอง มีแนวทางในการพัฒนาชุมชน 2 ด้าน คือ การพัฒนาคน โดยการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพัฒนาการท่องเที่ยว โดยใช้ทรัพยากรชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา แต่มีอุปสรรคในการทำงานคือ ชาวบ้านยังขาดความรู้ ความเข้าใจ การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการบริหารจัดการท่องเที่ยว

         ยุคที่ 2 ยุคทองแห่งการพัฒนา  (พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2557 ) เป็นยุคที่ชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์เป็นครั้งแรก และเริ่มเป็นที่รู้จักของหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว จึงทำให้เกิดการต่อยอดงานพัฒนาในชุมชนหลายด้าน นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนต้นแบบในด้านการจัดการชุมชนและการพัฒนาชุมชนจากหลายหน่วยงาน จนทำให้ได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village Champion : OVC) ในปี 2549 รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (อยู่ เย็น เป็นสุข) / PATA Gold Awards ในปี 2553 รางวัล Lonely Planet ในปี 2555 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย

       ยุคที่ 3 ยุคของการปรับตัวและแก้ปัญหาหรือยุคชุมชนภิวัฒน์ (พ.ศ.2558 – ปัจจุบัน) เป็นยุคที่ปรากฏการณ์ด้านการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองโด่งดังอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้ของนักท่องเที่ยวกระแสหลัก จากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก จึงทำให้หมู่บ้านแม่กำปอง กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศความเป็นธรรมชาติ และเป็นยุคที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก (Mass Tourism) เติบโตอย่างมาก

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง


          บ้านแม่กำปองมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญประกอบด้วย การเที่ยวชมวิถีชีวิตในชุมชน เช่น การทำเมี่ยง ทำสมุนไพร ทำกาแฟ ทำหมอนใบชา การจักสาน เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติตามเส้นทางการเดินป่า และจุดชมวิวบนยอดดอยม่อนล้าน ในส่วนของสถานที่และสาธารณูปโภครองรับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ประกอบด้วย สถานที่จอดรถยนต์สาธารณะ จำนวน 3 จุด รองรับรถยนต์ได้จำนวน 70 คัน ห้องน้ำสาธารณะจำนวน 3 จุด รวม 32 ห้อง บ้านพักโฮมสเตย์จำนวน 22 หลัง และบ้านพักรายวันจำนวน 46 หลัง  บ้านแม่กำปองมีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้ระบบคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน และมีรองประธานทำหน้าที่ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 2 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจำนวน 2 คน ประธานกลุ่มแม่บ้าน ประธานกลุ่มผู้สูงอายุ ประธานกลุ่มเยาวชน เลขานุการ และเหรัญญิก โดยมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการท่องเที่ยวประกอบด้วย 1) กลุ่มโฮมสเตย์ 2) กลุ่มนักสื่อความหมายชุมชน 3) กลุ่มนวดแผนไทย 5) กลุ่มสมุนไพรพื้นบ้าน 6) กลุ่มผลิตภัณฑ์หมอนใบชา และ 7) กลุ่มสะล้อ ซอ ซึง และการแสดงพื้นบ้าน การบริหารจัดการรายได้ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอยู่ภายใต้กลไกการบริหารของสหกรณ์ไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแม่กำปอง จำกัด โดยมีการจัดการผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวสู่สมาชิกสหกรณ์ดังนี้ เข้าสหกรณ์ไฟฟ้าพลังน้ำ ร้อยละ 30 (ปันผลเมื่อสิ้นปีให้กับสมาชิกสหกรณ์) พัฒนาหมู่บ้าน ร้อยละ 20  คณะทำงานร้อยละ 25 จัดสวัสดิการชุมชนร้อยละ 15  เบี้ยประชุมคณะกรรมการ ร้อยละ 10 ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมการประชุม และกิจกรรมการพัฒนาของชุมชน

       จากการเก็บรวมรวมข้อมูลด้านความพึงพอใจในการบริหารจัดการชุมชน การบริหารจัดการการท่องเที่ยว ของสมาชิกชุมชนบ้านแม่กำปอง และความต้องการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว พบว่า ประชากร จำนวน 105 ครัวเรือน ในหมู่บ้านแม่กำปอง มีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการชุมชน ในประเด็นกฎระเบียบของชุมชนในการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาตอและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และมีความคิดเห็นว่า การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ส่งผลดีต่อครอบครัว ในด้านของปัญหาที่ต้องการแก้ไขโดยด่วนคือ ปัญหาด้านการจราจร และปัญหาด้านการจัดการขยะ

           จากการเก็บรวบรวมข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านแม่กำปองที่พักค้างคืน และไม่พักค้างคืนหรือนักทัศนาจร ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พบว่า
          นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยว ณ หมู่บ้านแม่กำปองแบบไม่พักค้างคืนหรือนักทัศนาจร จำนวน 149 คน พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาเที่ยวกับเพื่อน (ร้อยละ 35.29) เดินทางพร้อมครอบครัว (ร้อยละ 34.31 ) และเดินทางพร้อมคู่รัก (ร้อยละ 16.67) โดยมีวัตถุประสงค์(ตารางที่ 6 ) หลักเพื่อการพักผ่อน (ร้อยละ 46.11 ) ชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติของบ้านแม่กำปอง(ร้อยละ 23.35)  และเยี่ยมชมวิถีชุมชน(ร้อยละ 13.17) ตามลำดับ นักท่องเที่ยวรับทราบข้อมูลบ้านแม่กำปองจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Facebook (ร้อยละ 29.58) สื่อเว็ปไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง (ร้อยละ 20.42) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะพักที่พักแบบโฮมสเตย์ (ร้อยละ 54.60) โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสนใจเข้าเยี่ยมชมมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังสนใจจะมาเยี่ยมชมดูหมู่บ้าน ร้านกาแฟยังเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเยี่ยมชมบ้านแม่กำปอง โดยเฉพาะร้านกาแฟชมนกชมไม้ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวพอๆกับน้ำตกแม่กำปอง (ร้อยละ 14.19)

          นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยว ณ หมู่บ้านแม่กำปองแบบพักค้าง คืน จำนวน 102 คน พบว่า ร้อยละ 54 ของนักท่องเที่ยวเป็นเพศหญิง อายุต่ำกว่า 27 ปี (ร้อยละ 38.70) และประกอบอาชีพเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง (ร้อยละ 34.70) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นพาหนะที่เดินทางท่องเที่ยวแม่กำปองถึงร้อยละ 47.30 นักท่องเที่ยวแบบพักค้างคืน นิยมมาเที่ยวกับเพื่อน (ร้อยละ 47.13) เดินทางพร้อมครอบครัว (ร้อยละ 21.66 ) และเดินทางพร้อมคู่รัก (ร้อยละ 14.01) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติของบ้านแม่กำปอง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลบ้านแม่กำปองจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Facebook (ร้อยละ 32.51) ทั้งเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง (ร้อยละ 21.18 ) สิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวแม่กำปองคือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ร้อยละ 40) เป็นหลัก ตามมาด้วยความสนใจในวิถีชุมชน (ร้อยละ 27.67) และ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม (ร้อยละ 14) ตามลำดับ

         นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับจำนวน 100 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพศหญิง มีจำนวน 58 คน คิดเป็นร้อยละ 58 และเพศชาย มีจำนวน 42 คนคิดเป็นร้อยละ 42 โดยที่ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 27 ปี คิดเป็นร้อยละ 56 รองลงมาคือ อายุระหว่าง 27 ถึง 37 ปี และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 67 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ คิดเป็นร้อยละ 50 รองลงมาคือ ท่องเที่ยวกับเพื่อน ร้อยละ 25 , ครอบครัว ร้อยละ 17 และคู่รัก ร้อยละ 8 ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการมาท่องเที่ยวบ้านกำปองเพื่อการ ร้อยละ 19 รองลงมาคือ การเยี่ยมชมน้ำตก, การมาเพื่อค้างคืน, การเยี่ยมชมวิถีชุมชน, การเยี่ยมชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติ นักท่องเที่ยวรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับบ้านแม่กำปองผ่านทางอินเตอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 40 พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 80 ได้รับประสบการณ์ในการท่องเที่ยวที่หมู่บ้านแม่กำปอง ที่ตรงกับความคาดหวังของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องธรรมชาติของพื้นที่

         นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนจำนวน 100 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 57 โดยที่ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 27 ปี คิดเป็นร้อยละ 56 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 54 นอกจากนี้ยังพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า, อังกฤษ, เดนมาร์ก, ออสเตรเลีย เป็นต้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน คิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมาคือ การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน, การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ/วัฒนธรรม, การท่องเที่ยวรูปแบบอาสาสมัคร เป็นต้น และพบว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวในรูปแบบ ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นครั้งแรก คิดเป็นร้อยละ 77 โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างคืน ส่วนใหญ่นิยมมาเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์และเพื่อน เป็นอัตราส่วนที่เท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 36 รองลงมาคือ มากับคู่รัก และครอบครัว คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 21 และ 7 ตามลำดับ ซึ่งรับรู้ข้อมูลการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองจาก อินเตอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 29 รองลงมาคือ ผ่านทางบริษัทนำเที่ยว ร้อยละ 21 และไกด์นำเที่ยว ร้อยละ 19 และอื่น ๆ ร้อยละ 18 มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาท่องเที่ยวบ้านแม่กำปอง เพื่อการพักโฮมสเตย์ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 21 และนิยมเดินทางด้วยการเช่ารถ คิดเป็นร้อยละ 58 มีความชื่นชอบในการชมวิวทิวทัศน์ กิจกรรมซิปไลน์ และรับประทานอาหารท้องถิ่น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,048.75 บาท ต่อคน และกว่าร้อยละ 91 ระบุว่า อยากกลับมาเที่ยวบ้านแม่กำปองอีก โดยให้เหตุผลว่าต้องการมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมในฤดูอื่น ๆ เพื่อจะได้ประสบการณ์ในการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันของแต่ละฤดู และทั้งหมดจะกลับไปบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์การท่องเที่ยว ณ บ้านแม่กำปอง ให้กับคนอื่น ๆ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพักค้างคืน มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีตัวเลือกของอาหารที่มากขึ้น ควรมีการให้ข้อมูลล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัว การพัฒนาทักษะด้านภาษาของบุคลากรในชุมชน มีป้ายกติกาและข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน การแก้ปัญหาที่จอดรถ และการรณรงค์ให้คนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

         ข้อมูลการสำรวจความเห็นของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง มีกลุ่มอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 39.60  รองลงมาอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นร้อยละ 33.70 และอายุระหว่าง 40-49 ปี เป็นร้อยละ 16.80 นักท่องเที่ยวที่เป็นคนเชียงใหม่ที่ท่องเที่ยวบ้านแม่กำปอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Generation Y (ปีพ.ศ.เกิด 2525-2548) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ  73.30  และเพศชาย ร้อยละ 26.70 ตามลำดับ มีอายุระหว่าง 20-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 39.60  รองลงมาอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นร้อยละ 33.70 และอายุระหว่าง 40-49 ปี เป็นร้อยละ 16.80 ตามลำดับ โดยรับรู้เรื่องราวการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองในด้านธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 68.30 แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ร้อยละ 62.40 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีบ้านพักโฮมสเตย์ ร้อยละ 60.40 ตามลำดับ โดยรับรู้จากการรีวิวข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์(Social media) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.10 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวบ้านแม่กำปอง เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ร้อยละ 77.6 โดยมีความคิดเห็นว่าจะแนะนำให้บุคคลอื่นไปท่องเที่ยวบ้านแม่กำปองโดยชื่นชอบบรรยากาศธรรมชาติในลำดับแรก คิดเป็นร้อยละ 88.80 เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ร้อยละ 59.20 ในกรณีที่ไม่เคยเดินทางไปท่องเที่ยว ณ หมู่บ้านแม่กำปอง ผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลว่าการเดินทางไม่สะดวกเป็นลำดับแรก คิดเป็นร้อยละ 42.90

 

วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์แห่งพระราชาเพื่อประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการชุมชนบ้านแม่กำปองตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

       จากการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา พบว่า แนวทางการบริจัดการชุมชนบ้านแม่กำปอง ควรนำแนวคิดการพึ่งพาตนเอง 5 ประการ (สำนักงาน กปร., 2550) มาเป็นกรอบในการพัฒนาชุมชน จากกระบวนการวิจัยได้มีการนำร่องการพัฒนาชุมชนในหลายประเด็น ดังนี้ 1) ด้านจิตใจ  คือ การสร้างจิตสำนึกและความตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชน ก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในการพัฒนาชุมชน 2) ด้านสังคม คือ การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน 3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาขยะและการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการแก้ไข และการกำหนดมาตรการ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน 4) ด้านเทคโนโลยี คือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลของชุมชน และ 5) ด้านเศรษฐกิจ คือ การพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและลดรายจ่ายในครัวเรือน และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมของชุมชน ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

        นอกจากนี้ยังได้มีการน้อมมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการพัฒนาขุมชน ซึ่งตั้งอยู่บน 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ห่วงที่ 1 ความพอประมาณ ห่วงที่ 2 ความมีเหตุผล และ ห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกัน สอดคล้องกับ กรวรรณ สังขกร (2552) ได้ศึกษาวิจัย เรื่อง “การประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน” พบว่า “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ และทุกอาชีพ ทุกกิจกรรม เพื่อเป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่มาจากพื้นฐานทรัพยากรที่มีอยู่และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เป็นจริง และ อนุชา เล็กสกุลดิลก (2551) ที่ได้ระบุว่าการพึงพาตนเองของชุมชนท่องเที่ยว ควรมีการจัดสรรการพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านเกษตรกรรมหรือประมง และเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรในชุมชน ซึ่งการจัดการท่องเที่ยว ควรมีการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม หรือองค์กรชุมชนที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เป็นไปตามแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ระบุว่า เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชนและชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน (โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ, 2540)  


วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 นำเสนอแผนการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่กำปองตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

        คณะผู้วิจัย ได้นำข้อมูลจากการศึกษาจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 และ 2 มาสรุปและวิเคราะห์ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้ มาจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นจึงได้จัดใหมีเวทีวิพากษ์แผนและรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย ในการท่องเที่ยวบ้านแม่กำปอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ปรับปรุงร่างแผนฯ ฉบับดังกล่าว เป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (แผนระยะ 5 ปี พ.ศ.2562 – พ.ศ. 2566) ที่ประกอบด้วย 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย  ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้

          ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการของคณะกรรมการหมู่บ้าน 2) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนและ 3) เพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 3 แผนงาน 6 กิจกรรม ดังนี้

แผนงานที่ 1  พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการของคณะกรรมการหมู่บ้าน
กิจกรรมที่1 จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมที่ 2 จัดทำเว็บไซต์การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง

แผนงานที่ 2  พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน
กิจกรรมที่ 1พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน
กิจกรรมที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

แผนงานที่ 3 การลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว
กิจกรรม 1 การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ 2 การกำหนดมาตรการควบคุมผลกระทบจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน

      ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมาย 2 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนบ้านแม่กำปอง และ 2) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงบนพื้นฐานคุณธรรม ประกอบด้วย 2 แผนงาน 4 กิจกรรม ดังนี้

แผนงานที่ 1 เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนบ้านแม่กำปอง
กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตในชุมชน
กิจกรรมที่ 2 ส่งเสริมการลดรายจ่ายในครัวเรือน
กิจกรรมที่ 3 ส่งเสริมการผลิตเครื่องใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

แผนงานที่ 2 เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงบนพื้นฐานคุณธรรม
กิจกรรมที่ 1 จัดอบรมและศึกษาดูงานด้านการใช้ชีวิตแบบพอเพียงบนพื้นฐานคุณธรรม

      ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1) เพื่อการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน 2) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม และ 3) เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นในการดำรงชีวิตของชุมชน ประกอบด้วย 3 แผนงาน 6 กิจกรรม ดังนี้

แผนงานที่ 1 เพื่อการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างรู้คุณค่า
กิจกรรมที่ 2 รณรงค์การรีไซเคิลขยะเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์

แผนงานที่ 2 เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ 1 รณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในครัวเรือน
กิจกรรมที่ 2 จัดกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมร่วมกับนักท่องเที่ยวและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

แผนงานที่ 3 เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นในการดำรงชีวิตของชุมชน
กิจกรรมที่ 1 พัฒนาแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน
กิจกรรมที่ 2 ส่งเสริมให้มีจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น



ที่มา : โครงการวิจัย การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พลวัติของการเปลี่ยนแปลง ของบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ผู้วิจัย : วรพงศ์ ผูกภู่, ฐิติ ฐิติจำเริญพร, ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ และคณะ 

ทุนวิจัย : DIG สกสว.

ปีที่ดำเนินการ : พ.ศ. 2560-2562


 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้